InfoAid.org ขอขอบคุณน้ำใจจากทุกท่านที่ร่วมแบ่งปัน 🙂
ภายในเดือนเมษายน’63 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมบริจาค Face Shield กับ InfoAid กว่า 40 ท่าน จำนวน 6,321 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลที่มีความต้องการเร่งด่วน 52 แห่งทั่วประเทศ
InfoAid เริ่มเปิด platform เมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา ร่วมกับภาคีเครือข่ายจิตอาสาหลากหลายอาชีพ เราได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนทั้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และผู้บริจาคทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และครอบครัวจากทั่วประเทศ ร่วมส่งกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าของพวกเรา
Face Shield หน้ากากป้องกันการฟุ้งกระจาย คือเวชภัณฑ์ที่ได้รับบริจาคมารวดเร็ว และมีผู้สนใจบริจาคมากที่สุด เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำขึ้นเองในครัวเรือนได้ จึงมีประชาชนและหน่วยงานมากมายร่วมกันจัดทำ หรือจัดหา และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างทันท่วงที เพื่อร่วมช่วยบุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนที่สุด
InfoAid ขอขอบคุณน้ำใจจากทุกท่าน ที่ร่วมช่วยกันส่งเวชภัณฑ์จำเป็นให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แม้สถานการณ์ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทางทีมงานจิตอาสา InfoAid ยังคงติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งในวันนี้ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งยังคงต้องการเวชภัณฑ์หลายรายการ.
กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน ภายใต้โครงการ “ปันกันกิน” ร่วมกับ InfoAid แบ่งปันข้าวหอมมะลิแท้อินทรีย์ กว่า 1,300 กิโลกรัม ให้กับมูลนิธิเพื่อกลุ่มเปราะบางใน จ.สุรินทร์ และจ.สมุทรสาคร
กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน นำโดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล ระดมทุนภายใต้โครงการ”ปันกันกิน” แบ่งปันข้าวหอมมะลิจากชาวนาเกษตรอินทรีย์ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากวิกฤตโควิด-19 ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 1,300 กิโลกรัม (260ถุง) โดยผ่านการประสานงานจาก InfoAid.org ไปยังเครือข่ายมูลนิธิที่ดูแลกลุ่มเปราะบาง 2 แห่ง ได้แก่ 1.มูลนิธิขวัญชุมชน จ.สุรินทร์ 300 กิโลกรัม ให้กับ 60 ครอบครัวของเยาวชนยากจนและทุพพลภาพ 2.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จ.สมุทรสาคร 1,000 กิโลกรัม ให้กับครอบครัวพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบไม่มีรายได้ที่เพียงพอและขาดแคลนอาหาร โดยทางมูลนิธิได้ลงพื้นที่ส่งมอบข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้กับครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ข้อมูลเครือข่ายหน้างานประจำสัปดาห์ + +
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
(กลุ่มลูกเหรียง)
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้หรือกลุ่มลูกเหรียงก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดยเป็นมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือเด็กเปราะบางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มลูกเหรียงให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น ทุนการศึกษา เสื้อผ้า รวมไปถึงอาชีพของครอบครัวเด็ก กลุ่มลูกเหรียงให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสประมาณ 1,500 คน/ปี ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ขยายความช่วยเหลือครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเกือบ 3,000 ราย
ผลกระทบจากโควิด-19
ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ครอบครัวเปราะบางจำนวนมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประสบปัญหาการขาดรายได้ คนตกงาน รวมถึงเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ประกอบกับการที่โรงเรียนต้องหยุดทำให้เด็กหลายคนที่ปกติฝากท้องกับอาหารกลางวันของโรงเรียนได้รับอาหารไม่เพียงพอ เด็กบางคนได้รับประทานเพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อต่อวัน ครอบครัวที่มีเด็กเล็กต้องนำนมข้นหวานมาละลายกับนํ้าร้อนแทนการให้นมผง ถึงแม้ปัจจุบัน
สถานการณ์ขาดแคลนอาหารถูกบรรเทาไปบ้าง ด้วยการบริจาคและโครงการต่างๆ แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจของ
ครอบครัวยังไม่ได้รับการถูกแก้ไข
การทำงานของมูลนิธิช่วงโควิด
บทบาทหลักของกลุ่มลูกเหรียงคือการประสานและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำความช่วยเหลือเข้ามาในชุมชน เช่นประสานเอานมโรงเรียนมาแจกจ่ายในชุมชน ลงพื้นที่แจกจ่ายชุดยังชีพ นอกจากนี้กลุ่มลูกเหรียงยังมีการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น การส่งเสริมให้คนปลูกผัก จัดทำโครงการครัวชุมชนเพื่อรับซื้อผักจากชาวบ้านมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารเพื้อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนอาหาร และสร้างการจ้างงานในชุมชน
ความช่วยเหลือที่ต้องการ
นอกเหนือจากเครื่องอุปโภคและบริโภคแล้ว ปัจจุบันทางชุมชนต้องการเครื่องนอน เช่น ผ้าห่ม หมอน เพราะด้วยความแออัดของครอบครัวที่กลับมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ทางกลุ่มลูกเหรียงยังต้องการการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการสร้างอาชีพคนในชุมชน
มูลนิธิขวัญชุมชน
มูลนิธิขวัญชุมชน ดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขและลดปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ทำให้ผู้หญิงเด็กและเยาวชน กลายเป็นคนชายขอบในมิติสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน และสนับสนุนผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ ปัจจุบันทางมูลนิธิขวัญชุมชนให้ความช่วยเหลือ กลุ่มเด็กเปราะบางอยู่ 22 คน ในจังหวัดสุรินทร์ แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทางมูลนิธิได้ขยายบทบาทการทำงานและให้ความช่วยเหลือชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ (โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง) ในจังหวัดสุรินทร์กว่า 600 คน
ผลกระทบจากโควิด-19
เนื่องจากลูกหลานของผู้สูงอายุหลายคนในชุมชนต้องตกงานเพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งเงินกลับมาทางบ้าน ส่งผลให้ผู้สูงอายุหลายคนขาดรายได้ บางรายต้องรับประทานข้าวต้มกับเกลือเพื่อประทังชีวิต ปัจจุบันแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายและคนเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐมากขึ้น คนที่ทำอาชีพค้าขายสามารถกลับมาขายของได้ แต่กลุ่มลูกจ้างรายวันก็ยังประสบปัญหาตกงาน หลายครอบครัวยังมีความต้องการของอุปโภคและบริโภค เช่นข้าวสาร และยังต้องการนมผงสำหรับเด็กอ่อน
การทำงานของมูลนิธิช่วงโควิด
ที่ทางมูลนิธิฯ ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการ ในการปรับปรุงบ้านเพื่อให้กลุ่มผู้พิการสามารถอาศัยอยู่ในบ้านด้วยตนเองได้ในช่วงที่ต้องกักตัว นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังทำงานกับกลุ่ม COVID Thailand Aid และ InfoAid ในการลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายชุดยังชีพ
ความช่วยเหลือที่ต้องการ
นอกเหนือจากของบริจาคเพื่อการทำถุงยังชีพ เช่น ข้าวสาร นมกล่อง นมผงเด็ก แพมเพิสทั้งเด็กและคนแก่แล้ว ทางมูลนิธิฯยังต้องการความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการจัดทำโครงการพัฒนาฝีมือช่างในพื้นที่เกี่ยวกับ Universal design เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ โดยความช่วยเหลือที่ต้องการนั้นเป็นทั้งในรูปแบบขององค์ความรู้และเงินทุน
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
โครงการความช่วยเหลือเด่นที่ต้องการเงินทุนสนับสนุน + +
กองทุนเทใจช่วยครอบครัวเปราะบางให้รอดไปด้วยกัน
“ครอบครัวเด็กยากจนจำนวนมากเข้าสู่สถานการณ์อดมื้อกินมื้อแล้ว” ขอชวนทุกคนช่วยกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กในบ้านพักเด็กเล็ก เด็กอ่อนในชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แรงงานรายวัน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาด Covid-19 ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ อาทิ ถุงยังชีพ หน้ากาก รวมถึงอาชีพที่จะหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
แนวทางการดำเนินงานและการใช้เงินบริจาค
ทางโครงการส่งแบบฟอร์มเพื่อรวบรวมความต้องการใน 1 เดือน ของแต่ละสถานที่ / ชุมชน ไปตามแต่ละมูลนิธิที่ร่วมงานกับโครงการ เมื่อได้เงินบริจาคมา ทางโครงการจะทำการกระจายเงินบริจาคไปให้กับทุกมูลนิธิ เพื่อเป็นทุนในการจัดเตรียมชุดยังชีพ (ในงบประมาณ 500 บาท ต่อชุด) และหน้ากากผ้า (ในงบประมาณ 35 บาท ต่อชิ้น) ให้กับครอบครัวเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือเพื่อเป็นทุนในการฟื้นฟูและสร้างอาชีพแต่ละครอบครัวหรือกลุ่มชุมชน เช่นเงินทุนเริ่มต้นในการจัดหาวัตถุดิบหรือเครื่องมือในการประกอบอาชีพ โดยแบ่งเงินบริจาคตามสัดส่วนข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือที่แต่ละมูลนิธิส่งมา ทางองค์กรต่างๆนำเงินบริจาคที่ได้รับไปจัดเตรียมชุดยังชีพหรือจัดเตรียมความช่วยเหลืออื่นๆ ตามที่ชุมชนต้องการ
ทั้งนี้ โครงการกองทุนเทใจ ระยะที่ 1 ทางเทใจได้ดำเนินการโอนเงินรอบแรกไปยัง 7 องค์กรเพื่อให้แต่ละองค์กรดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ต่อไป
อ่านรายละเอียดโครงการได้ที่ taejai.com/th/d/taejaisurvival
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
น้ำใจ ♡ แห่งการแบ่งปันคือกำลังใจหนึ่งที่สำคัญ
แด่บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเปราะบาง
ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และภัยพิบัติอื่นๆ
หากคุณสนใจร่วมสนับสนุน สามารถติดต่อ InfoAid ได้ที่
www.infoaid.org หรือโทร 095-464-5669