InfoAid ร่วมส่งน้ำใจและเป็นกำลังใจให้ผู้เปราะบางกลุ่ม LGBTQ+
วันที่ 28 มิถุนายน ถือเป็นวันครบรอบเหตุจลาจลที่สโตนวอลล์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิเพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในโอกาส Pride month ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนี้ InfoAid จึงอยากชี้ให้เห็นปัญหาซึ่งผู้เปราะบางที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในช่วงที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงหรือฉุกเฉินเช่นตอนนี้
แน่นอนว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นจำนวนมาก แต่เราเรียกกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า และมีความสามารถในการฟื้นฟูน้อยกว่าว่ากลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม จากการที่ InfoAid ได้ติดตามข้อมูลและประสานงานกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ พบว่าหนึ่งในผู้เปราะบางที่ต้องการการช่วยเหลือเฉพาะหน้าก็คือ ผู้เปราะบาง ที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ และพนักงานบริการ
“ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ มีคนในกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนมากต้องตกงานจากการปิดสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ คาบาเรต์ ทำให้หลายคนตัดสินใจกลับบ้าน แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่ยอมรับเพศสภาพของคนในกลุ่มนี้ หลายคนต้องเผชิญปัญหาถูกคุกคามด้านวาจาหรือถูกใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว นอกจากนี้ หลายคนประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์และยา โดยเฉพาะยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน เนื่องจากบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมักถูกจัดอยู่ในประเภทศัลยกรรมเสริมความงาม ซึ่งไม่สามารถเปิดให้ บริการได้ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน ถึงแม้จะการคลายมาตรการล็อคดาวน์แล้ว คนในกลุ่มนี้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการจ้างงานอยู่ และมีอัตราการถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานยังค่อนข้างสูง” (( คัดจาก ผลกระทบจากโควิด-19 มูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ))
เห็นได้ว่าปัญหาที่ผู้เปราะบางในกลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญ มีทั้งปัญหาที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ปัญหาการว่างงาน การเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์และยา และการถูกละเมิดสิทธิหรือถูกคุกคามที่มีผลมาจากเพศสภาพ และปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดที่เกิดจากการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม (Minority stress) หรือการถูกตีตราหรือแบ่งแยกจากสังคมหรือถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบที่คนทั่วไปอาจไม่สังเกตเห็น ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่เข้ารับบริการทางสุขภาพ เป็นต้น
ดังนั้น InfoAid จึงประสานกับเครือข่ายมูลนิธิของ UNDP (United Nations Development Programme) ที่ทำงานกับผู้เปราะบางในกลุ่มนี้ เพื่อติดตามข้อมูล ประสานงาน และส่งมอบความช่วยเหลือ โดยหน่วยงานเครือข่ายของเรา ได้แก่ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation), มูลนิธิซิสเตอร์ (Sisters Foundation), สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Association of Thailand: RSAT), มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และมูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (The foundation of transgender Alliance for Human Rights)
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
(Empower Foundation)
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ คือ องค์กรที่ส่งเสริมโอกาสให้ “พนักงานบริการ” ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม เรียกร้องให้งานบริการมีมาตรฐาน ยุติธรรมและความปลอดภัย พร้อมกับ ผลักดันให้มีส่วนร่วมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ กฏหมาย สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ในประเทศไทย โดยมูลนิธิฯ มีสาขาอยู่ทั้งในกรุงเทพ เชียงใหม่ และภูเก็ต นอกจากการอบรมด้านความรู้ และวิชาชีพให้กับพนักงานบริการแล้ว ยังให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมายสิทธิต่างๆ และเรื่องที่เกี่ยว กับสุขภาพของพนักงานบริการอีกด้วย
เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่รัฐบาลได้สั่งปิดสถานบริการตั้งแต่เดือนมีนาคม ทำให้พนักงานบริการส่วนใหญ่ขาดรายได้ บางคนต้องว่างงานโดยไม่มีกำหนด ด้วยเหตุนี้พนักงานบริการส่วนใหญ่รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว จึงไม่สามารถ วางแผนชีวิตของตัวเองและครอบครัวได้ หลายคนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถชำระหนี้สิน หรือสาธารณูปโภคสำหรับตนเองและครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานบางส่วนที่เป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ หรือแรงงานข้ามชาติซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน มูลนิธิฯ ได้ประสานงานไปยังศูนย์เรียนรู้ฝึกอาชีพของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้มาสอนวิชาชีพให้กับพนักงานบริการที่มีความประสงค์จะเรียนรู้และนำไปหารายได้ และประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามความช่วยเหลือการเยียวยาจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าด้วยการระดมทุน เพื่อมอบข้าวสาร อาหารแห้ง หรือมอบเป็นเงินสดในบางกรณีที่มีความจำเป็น
มูลนิธิซิสเตอร์
(Sisters Foundation)
มูลนิธิซิสเตอร์ดูแลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ทำงานอยู่ในพื้นที่พัทยา โดยในเวลาปกติจะมีการให้บริการตรวจเลือดและตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งบริการให้คำปรึกษา และดูแลสนับสนุนก่อนและหลังการตรวจเลือด นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาด้านสิทธิสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ บริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น โดยเน้นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ และสุขภาวะของผู้หญิงข้ามเพศ เพราะในปัจจุบันคนในกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในด้านสุขลักษณะทางเพศ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางด้านจิตใจ อาทิ ปัญหาครอบครัว หรือการยอมรับจากสังคมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สถานบริการและโรงละครหลายแห่งปิดทำการซึ่งเป็นสถานที่ทำงานหลักของคนในกลุ่มที่มูลนิธิดูแลอยู่ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องขาดรายได้ มูลนิธิฯ จึงมีการให้บริการตรวจโรค และให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์ตอนนี้
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
(Rainbow Sky Association of Thailand: RSAT)
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ดำเนินโครงการด้านสุขภาพเฉพาะ สำหรับกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย คนข้ามเพศ (สาวประเภทสอง) หญิงรักหญิง รวมถึงการทำงาน ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้ง รามคำแหงและ หาดใหญ่ เพื่อให้บริการด้านสุขอนามัยทางเพศแก่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยได้รับการ สนับสนุนจากองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศมากมาย ปัจจุบัน สมาคมฯ มีสำนักงานและศูนย์กิจกรรม 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี อุบลราชธานี และสงขลา มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมากกว่า 80 คน และอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน
ในช่วงโควิดนี้ ทางสมาคมฟ้าสีรุ้งก็ได้ประสานงานกับสำนักงานในพื้นที่ดำเนินการรวบรวม ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยไปส่งมอบ อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ ให้แก่ผู้เปราะบางในกลุ่ม LGBTQ+ ในพื้นที่
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
(Service Workers in Group Foundation; SWING)
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 มีพื้นที่ปฏิบัติงานหลักคือกรุงเทพฯ และ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี อันเป็น 2 เมืองท่องเที่ยวที่มีย่านสถานบันเทิงและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ต่างชาติจำนวนมาก โดยช่วงแรกนั้นเน้นให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์อื่นๆ รวมถึงสอนภาษาต่างประเทศแก่พนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) ที่เป็น ผู้ชายและสาวประเภท 2 แต่ต่อมาได้ขยายครอบคลุมถึงพนักงานบริการทุกกลุ่ม จุดเด่นของ การทำงานของสวิง คือการบริการที่ออกแบบตามแนวคิด Human-centered design ที่ให้ความ สำคัญและคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก
เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ปัญหาที่พนักงานบริการทั้งในกรุงเทพฯและพัทยาซึ่งสวิงดูแลอยู่ ต้องเผชิญคือคนจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เงื่อนไขความช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ สวิงจึงทำหน้าที่ระดมทุนและความช่วยเหลือเรื่องอาหาร ของใช้ที่จำเป็น และช่วยเหลือเรื่องที่อยู่ชั่วคราว
มูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
(The foundation of transgender Alliance for Human Rights)
มูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนดำเนินงานเชิงวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม รณรงค์เพื่อสื่อสารกับสังคม และขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) รวมถึงให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกละเมิดสิทธิ โดยปัจจุบันทางมูลนิธิทำงานกับกลุ่ม LGBTQ+ กว่า 500 คน
ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้น มูลนิธิฯ ทำงานทั้งในเชิงตั้งรับและเชิงรุก โดยในเชิงตั้งรับ คือ การเปิดช่องทางร้องเรียนและให้คำปรึกษากับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกคุกคามจาก คนในครอบครัวในช่วงล็อคดาวน์ รวมถึงจัดทำชุดความรู้ในการดูแลตนเองเพื่อแจกจ่ายให้ กับผู้เปราะบางในกลุ่ม LGBTQ+ ส่วนในเชิงรุก มูลนิธิได้ทำการระดมทุนและรวบรวมของบริจาค เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เดือดร้อน
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ความต้องการการช่วยเหลือ สำหรับผู้เปราะบางในกลุ่มพนักงานบริการ และ LGBTQ+
สิ่งที่ผู้เปราะบางในกลุ่มพนักงานบริการ และ LGBTQ+ ยังต้องการความช่วยเหลือ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2563 โดยรวบรวมจากเครือข่ายทั้ง 5 องค์กร มีดังนี้
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
น้ำใจแห่งการแบ่งปัน ♡
ขอขอบคุณบริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) ผู้บริจาค Face Shield และ Surgical Mask ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ
กว่า 20 แห่ง
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) ได้บริจาค Face Shield จำนวน 125 ชิ้น และ Surgical Mask จำนวน 5,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเดิมทีเป็นหน้ากากอนามัยที่จัดเตรียมสำหรับบุคลากรในบริษัท แต่ทางบริษัทฯ เห็นความจำเป็นเร่งด่วน จึงได้ติดต่อผ่าน InfoAid เพื่อประสานงานบริจาคอุปกรณ์ป้องกันโรคเหล่านี้ให้แก่โรงพยาบาล 20 แห่ง ทั่วประเทศ โดยได้จัดเตรียมหน้ากากผ้าให้บุคลากรของบริษัทใช้แทน
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
น้ำใจ ♡ แห่งการแบ่งปันคือกำลังใจหนึ่งที่สำคัญ
แด่กลุ่มเปราะบาง และบุคลากรทางการแพทย์
ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และภัยพิบัติอื่นๆ
หากคุณสนใจร่วมสนับสนุน สามารถติดต่อ InfoAid ได้ที่
www.infoaid.org หรือโทร 095-464-5669